วิธีวาดสีน้ำบนสมุดสเก็ตช์

Posted 9/19/2023 10:42:13 AM

สมุดสเก็ตช์สีน้ำเราใช้เพื่อวาดรูปเป็นหลัก แต่ด้วยความที่เป็นสมุด กระดาษจึงมักจะไม่หนามาก การสเก็ตช์เลยต้องลดขั้นตอนของการระบายสีลง *ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดาษที่ใช้ด้วย

การวาดสีน้ำโดยปกติจำเป็นต้องการกระดาษที่มีความหนา เพื่อมีพื้นที่ให้ซึมซับน้ำได้เยอะ สมุดสำหรับสเก็ตช์สีน้ำจริงๆ จึงมักมีราคาแพง สำหรับคนที่งบประมาณไม่ใช่ปัญหาก็อาจจะใช้สมุดแบบเกรดหรู อย่างของแบรนด์ Moleskine ที่ราคาหลายร้อย ไปจนถึงหลายพันบาท


Moleskine Luxury Notebooks

แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถใช้สมุดทั่วไปที่ราคาย่อมเยาว์ลงได้ เช่นสมุดที่กระดาษมีความหนาประมาณ 100 แกรม (หรือ 120 แกรม) โดยทั่วไปสมุดที่ใช้กระดาษเกรดนี้จะราคาประมาณ 100 บาท หรือแพงกว่านิดหน่อย ส่วนตัวมองว่ามีความเหมาะสมในการสเก็ตช์ เพราะทำให้เราลองผิดลองถูกกับสมุดได้โดยไม่รู้สึกเปลือง

ปัจจัยที่เราต้องคำนึงในการเลือกสมุดก็คือ
  1. ไม่ควรมีเส้นบรรทัด
  2. ความหนา 100 แกรม ขึ้นไป
  3. ขนาดเล่ม อันนี้แล้วแต่ชอบ ถ้าชอบพกง่ายๆ เดินทางบ่อยๆ ขนาด A5 (14.85 x 21 cm) ไซส์พ็อกเก็ตบุ๊คก็เหมาะสม ถ้าการพกพาไม่ใช่ปัญหา และชอบวาดใหญ่หน่อย ขนาด A4 (21 x 29.7 cm) ก็อาจเหมาะมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและนิสัยของแต่ละคน
  4. สีของกระดาษ อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบ กระดาษส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 สี คือสีนวลๆ แบบงาช้า กับสีขาวไปเลย ส่วนตัวจะชอบสีนวลๆ มากกว่า ส่วนสีขาวข้อดีคือระบายออกมาแล้วจะดูสีสดกว่ากระดาษสีนวล ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความชอบ
เทคนิคที่ใช้ในการสเก็ตช์

ไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหนในการวาด สิ่งสำคัญคือควรลบแต่น้อย หรือไม่ต้องลบเลย การใช้ยางลบจะทำให้ผิวกระดาษเป็นขุย และเนื้อกระดาษบางลง มีผลต่อการระบายสีอย่างมาก


วาดด้วยดินสอแล้วระบายสี

1.วาดด้วยดินสอแล้วระบายสี เป็นวิธีวาดปกติ ดินสอควรใช้ไส้ 2B~4B (ไม่แนะนำ HB) ด้วยความที่กระดาษสำหรับสเก็ตช์มักจะมีความหนาไม่มาก จุดที่ต้องระวังคือการเลือกสีที่จะระบาย ควรผสมสีให้ได้น้ำหนัก (ระดับความเข้ม) ที่เหมาะสม แล้วระบายโดยไม่ต้องกลับมาระบายซ้ำ รวมทั้งไม่ใช้น้ำมากเกินไป กระดาษจะได้ไม่ย่น และไม่เปื่อย


วาดด้วยปากกาแล้วระบายสี

ปากกา Pigma (SAKURA)

2.วาดด้วยปากกาแล้วระบายสี เทคนิคนี้ค่อนข้างเหมาะกับการสเก็ตช์มากกว่าการใช้แค่ดินสอ การร่างภาพอาจจะใช้ดินสอนำไปก่อนเบาๆ แล้วค่อยตัดเส้นด้วยปากกา หรือวาดด้วยปากกา โดยไม่ต้องใช้ดินสอเลยก็ได้ เส้นอาจจะออกมาเบี้ยวๆ บ้าง แต่ในบริบทของการเสก็ตช์ เส้นที่ไม่ถูกต้องมาก บางทีก็ทำให้ได้งานสเก็ตตช์ที่สวยดีเหมือนกัน ดังนั้นถ้าไม่ผิดถึงขนาดที่ทำให้ภาพเพี้ยน ความไม่ถูกต้องเล็กๆ น้อยๆ จากการสเก็ตช์ จึงเป็นสิ่งที่รับได้ เน้นการวาดทั้งภาพให้งานออกมาสนุกจะน่าดูกว่าการวาดที่คำนึงถึงแต่ความถูกต้อง การวาดแบบนี้ แนะนำให้ใช้ปากกา PIGMA ของ Sakura เพราะหมึกมีคุณสมบัติกันน้ำ สีมารถระบายสีน้ำทับได้โดยหมึกไม่ซึม โดยอาจมีปากกาสัก 2 ขนาด คือสำหรับวาดรายละเอียด (เบอร์ 0.2~0.3) และปากกาสำหรับตัดเส้นใหญ่ (เบอร์ 0.5~0.8) ข้อดีของการวาดเส้นด้วยปากาคือ งานจะดูมีรายละเอียดมาก ทั้งที่ระบายสีไม่มาก เพราะได้เส้นดรออิ้งจากปากกาช่วยนั่นเอง