Posted 5/10/2023 12:43:42 PM
สีน้ำนอกจากมีหลายชนิดแล้ว ยังมีหลายเกรดด้วย (ดูบทความเก่า : สีน้ำมีกี่แบบ แบบไหนที่เหมาะกับเรา) เกรดของสีน้ำหมายถึงระดับคุณภาพของเนื้อสี และราคาที่แตกต่างกัน โดยแบ่งกว้างๆ ได้ 3 เกรด คือ เกรดเบสิก สำหรับผู้ใช้พื้นฐาน, เกรดทั่วไป และเกรดอาร์ทติส
แบรนด์สีน้ำส่วนใหญ่จะทำสีน้ำออกมาหลายเกรด เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่นแทบทุกแบรนด์จะมีสีน้ำเกรดเบสิกเป็นของตัวเอง ส่วนในการใช้งานจริง เกรดเบสิกของบางแบรนด์ อาจจะมีคุณภาพพอๆ กับเกรดทั่วไปของบางแบรนด์ (และการเขียนหน้าผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสีเกรดอาร์ทติสแต่คุณภาพกลับแย่กว่าแบบเบสิกเองก็มี) ดังนั้นเนื้อหาตรงนี้จะแบ่งเกรดโดยอิงจากประสบการณ์การใช้งานส่วนตัวเป็นหลัก
เกรดเบสิก คือคุณภาพสีน้ำไม่ดีมาก มีจุดร่วมอย่างนึงที่คล้ายกันคือเนื้อสีจะติดไปทางข้น ไม่บางใส และให้สีที่ไม่จัดจ้าน ส่วนหนึ่งเพราะต้องลดต้นทุน ทำมาขายในราคาที่ถูกลงคุณภาพเลยลดหลั่นลงมาด้วย สีเกรดนี้จึงเหมาะกับนักเรียน หรือคนที่อยากเริ่มฝึกวาด
แบรนด์สีน้ำเกรดเบสิกที่หาได้ทั่วไป เช่น REEVES, SAKURA KOI, สีน้ำ ST (ไทย), Silpakorn Pradit (ไทย), มาสเตอร์อาร์ต (ไทย), Pelikan, MARIE'S (จีน), Renaissance, Art Creation, Pentel
จริงๆ แล้วสีน้ำมักจะแบ่งเกรดเป็นแค่ Basic กับ Artist (บ้างก็เรียก Professional หรือ Studio grade) คือแบ่งเป็น 2 ประเภท แต่จากที่ใช้มาพบว่าจะควรจะมีเกรดทั่วไป คือ คุณภาพดีกว่า Basic แต่อาจจะไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับ Artist จึงแบ่งมาเป็นเกรดที่เหมาะสำหรับผู้ใช้ระดับกลาง หรือระดับต้นที่ต้องการสีที่มีคุณภาพหน่อย จริงๆ ก็เป็นเกรดที่มืออาชีพ หรือ Artist ก็ใช้ได้ สามารถใช้สร้างงานดีๆ ได้ตามมาตรฐานงานศิลป์ทั่วไปเลย คือมีคุณสมบัติสีสด ไม่หลุดลอกง่าย มีสารป้องกันเชื้อรา ฯลฯ ในระดับที่มีคุณภาพ แต่ราคาย่อมเยาว์กว่าเกรด Artist นั้นเอง
แบรนด์ที่หาได้ทั่วไป เช่น สีน้ำวิจิตรรงค์ (แบรนด์ศิลปากร), สีน้ำไทยโทน, Mungyo Professional, Vangogh, Kusakabe, Winsor&Newton Cotman, ShinHan
สีน้ำเกรดอาร์ทติสจะมีเนื้อสี (pigment) ที่สด ใช้เพียงนิดเดียวแต่จะได้สีที่จัดจ้านมาก เนื้อสีมีความโปร่งใสมาก (transparency) ทำให้ทับซ้อนกันได้หลายชั้น แต่ก็มีราคาจำหน่ายที่สูงมากเช่นกัน มีทั้งแบบแยกหลอด และแบบแพ็ค บางแบรนด์แต่ละหลอดราคาสีจะแตกต่างกัน โดยอาจแบ่งราคาเป็นแต่ละซีรี่ย์ (เพราะใส่สารเคมีที่เป็นวัตถุดิบที่แตกต่างกัน) นอกจากเนื้อสีจะสดแล้ว ยังมีความคงทนไม่ซีดจาง ไม่ขึ้นรา ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกระดาษ และอื่นๆ (เช่นน้ำ) ที่ใช้ในการวาดด้วย
แบรนด์อาร์ทติสที่หาได้ทั่วไป เช่น Sennelier, Winsor&Newton Cotman (Artist), REMBRANDT, Mijello Mission Gold, Holbein HWC, ShinHan Premium Artist Watercolors(PWC), Daniel Smith
เราสามารถใช้สีคนละเกรดผสมกันได้ แต่จะไม่แนะนำ เพราะสีที่มีคุณภาพดีที่ให้สีได้จัดจ้าน มักมีเนื้อสีที่ไม่ข้นเท่าสีเกรดเบสิก การนำมาผสมกันทำให้สีที่ใสกลับมาเนื้อสีที่ข้น ขุ่น ไม่ได้แสดงศักยภาพของสีได้เต็มที่ เพราะสีแต่ละแบรนด์ หรือแบรนด์เดียวกันแต่คนละซีรี่ยส์ ก็มีค่าความโปร่งแสงที่แตกต่างกัน การผสมกันจากสีคนละเกรด จึงต้องใช้ทักษะความชำนาญของผู้วาด ว่าสีที่ใช้จะผสมกันได้ดีแค่ไหน อาจจะดี หรือแย่ลงก็เป็นไปได้